ทันตกรรมจัดฟัน (Orthodontics)

ทันตกรรมจัดฟัน

ทันตกรรมจัดฟัน (Orthodontics)

จัดฟัน 3M คลินิกทันตกรรมไวท์ทีธ

               ทันตกรรมจัดฟัน คือสาขาหนึ่งของทันตกรรมซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกับการแก้ไขฟันและขากรรไกรที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ฟันยื่นและฟันที่ขบกันไม่พอดีจะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด และมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรเนื่องมาจากฟันผุและโรคเหงือก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการกดทับต่อกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยวซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการปวดศรีษะ อาการปวดที่ข้อต่อขากรรไกร คอ ไหล่ และหลังได้ ฟันที่ยื่นหรือไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมก็ยังทำลายบุคลิกภาพอีกด้วย

 

เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราต้องจัดฟัน

               ทันตแพทย์หรือทันตแพทย์จัดฟันจะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยประวัติการรักษาทางการแพทย์และทันตกรรม การตรวจในคลินิก แบบพิมพ์ฟัน และภาพเอ็กซเรย์ว่าต้องจัดฟันหรือไม่

ลักษณะฟันแบบไหนที่ต้องจัดฟัน

การสบฟันที่ผิดปกติ (Malocclusions) ที่ควรได้รับการรักษาด้วยการจัดฟัน มีดังนี้

1. ฟันยื่น (Protruding Teeth)

ฟันหน้าบนหรือฟันหน้าล่าง ยื่นออกมามากกว่าปกติ ทำให้ปากอูม บางคนไม่สามารถปิดริมฝีปากได้สนิท มีฟันหน้าลอดออกมา ทำให้เสียบุคลิกภาพ เสี่ยงที่ฟันหน้าจะบิ่นหรือหักจากอุบัติเหตุ

2. ฟันซ้อน (Crowding)

ฟันเรียงไม่เป็นระเบียบ อาจซ้อนกันทั้งข้างนอกและข้างใน เป็นที่สะสมของเศษอาหาร ทำความสะอาดยาก มีกลิ่นปาก เสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือกอักเสบ และอาจจะเกิดฟันผุตามมาได้ บางคนฟันเขี้ยวอยู่สูงมาก เมื่อยิ้มแล้วเป็นเหมือนจุดนำสายตา ให้คนอื่นมองแต่ที่ฟัน

3. ฟันสบคร่อม ฟันล่างคร่อมฟันบน (Cross Bite)

ฟันล่างซี่เดียวหรือหลายซี่ สบคร่อมทับฟันบน ในเด็กหากทิ้งไว้ไม่รักษา ขากรรไกรอาจมีขนาดผิดปกติ ทำให้เกิดลักษณะใบหน้าเว้า หน้าเบี้ยว และอาจทำให้เกิดความผิดปกติ ที่ข้อต่อขากรรไกรได้ หากลูกหลานมีฟันสบคร่อม ควรรีบพามาพบทันตแพทย์จัดฟันตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อหาทางรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

4. ฟันห่าง (Spacing)

ลักษณะคือ ด้านข้างของฟันซี่หนึ่ง ไม่ชิดกับด้านข้างของฟันซี่ที่อยู่ถัดไป จึงเกิดช่างว่างระหว่างฟัน ทำให้พูดไม่ชัด เวลาพูดมีน้ำลายกระเด็น สร้างความรำคาญ เพราะเศษอาหารจะเข้าไปติดอยู่ตามซอกฟัน เจ็บเหงือก เนื่องจากอาจโดนเศษอาหารที่แข็ง เช่น กระดูก เข้าไปติดตามซอกฟัน

5. ฟันสบลึก (Deep Bite)

ฟันหน้าบน คร่อมปิดฟันหน้าล่างจนมากเกินไป เวลายิ้มแล้วจะมองไม่ค่อยเห็นฟันหน้าล่าง ทำให้ดูเป็นคนหน้าสั้น ดูเป็นคนมีอายุ อันตรายของฟันสบลึกก็คือ ปลายฟันหน้าล่าง จะชนโคนฟันหน้าบนด้านในไปเรื่อยๆ นานเข้าก็ทำให้ฟันสึก เจ็บ เสียวฟัน สร้างความเสียหายให้กับเหงือกและรากฟันหน้า จนอาจต้องรักษารากฟันกันเลยทีเดียว

6. ฟันสบเปิด (Open Bite)

เมื่อกัดฟัน ปลายฟันหน้าบนและปลายฟันหน้าล่าง จะห่างออกจากกัน ทำให้กัดอาหารไม่ขาด ออกเสียงบางคำไม่ชัดเจน ในรายที่เป็นมาก เมื่อยิ้มแล้วจะเห็นเป็นโพรง เหมือนอ้าปากตลอดเวลา ทำให้เสียบุคลิกภาพ

7. ฟันหาย (Missing Teeth)

ฟันหาย เพราะฟันขึ้นเองไม่ได้เองตามธรรมชาติ แต่กลับไปฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร หากลูกหลานฟันขึ้นไม่ครบ ควรพามาพบทันตแพทย์จัดฟัน เพราะอาจช่วยดึงฟันที่ฝังให้ขึ้นมาได้ ลูกหลานของเราจะได้ไม่ต้องเป็นคนฟันหลอ ไม่ต้องใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียม

8. ฟันประสบอุบัติเหตุ

หากต้องเสียฟันบางซี่ เพราะประสบอุบัติเหตุ อย่าเพิ่งหมดหวัง ควรปรึกษาทันตแพทย์จัดฟัน เพราะอาจจะช่วยดึงฟันซี่อื่น มาปิดช่องว่างของฟันที่เสียไป โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม หรือถ้าดึงฟันซี่อื่นมาปิดช่องไม่ได้ ก็อาจเป็นการจัดฟัน เพื่อเตรียมพื้นที่ สำหรับใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียมต่อไป

9. ขากรรไกรผิดปกติ

ในบางคน ความผิดปกติของการสบฟัน มีสาเหตุจากกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย ทำให้คางยื่น หน้าเบี้ยว การจัดฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร การรักษาจะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างทันตแพทย์จัดฟันและทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปาก เป็นการผ่าตัดใหญ่ในโรงพยาบาล ต้องดมยาสลบ และมีความเสี่ยง เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป

ขั้นตอนการจัดฟัน

              การจัดฟันคือ การรักษาความผิดปกติของร่างกาย ไม่ใช่การทำศัลยกรรมเสริมสวย ไม่ใช่การทำเล็บ ทำผม และที่สำคัญ จัดฟันเป็นการรักษาต่อเนื่องที่ยาวนาน ดังนั้นคนไข้ต้องมีความพร้อม ทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย

ขั้นตอนการจัดฟัน โดยทั่วไปจะมีดังต่อไปนี้

1 ตรวจการสบฟันเบื้องต้น เพื่อหาข้อบ่งชี้ว่าควรจะจัดฟันหรือไม่

2 พิมพ์ปากและเอกซเรย์ เพื่อนำข้อมูลไปวินิจฉัย และวางแผนการรักษา

3 รักษาโรคในช่องปาก ขูดหินปูน อุดฟัน ฯลฯ ในส่วนที่จำเป็น ก่อนติดเครื่องมือ

4 ติดเครื่องมือจัดฟัน

5 ปรับเครื่องมือทุก 4-8 สัปดาห์ นาน 2-4 ปี เพื่อเคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม

6 ในระหว่างจัดฟัน อาจมีขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน ผ่าฟันคุด ผ่าฟันฝัง หรืออื่นๆ ที่จำเป็น

7 ถอดเครื่องมือจัดฟัน และใส่รีเทนเนอร์ (Retainers) หรือเครื่องมือคงสภาพฟัน เพื่อป้องกันฟันเคลื่อนกลับตำแหน่งเดิม 

ประเภทของการจัดฟัน แบ่งการจัดฟันออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. แบบเครื่องมือติดแน่น

2. แบบเครื่องมือถอดได้

ซึ่งในแต่ละประเภทนั้นก็จะมีชนิดของเครื่องมือให้เราสามารถเลือกได้เหมาะสมกับตามความต้องการ

1. แบบเครื่องมือติดแน่น

จัดฟันดามอน Damon

Damon คลินิกทันตกรรมไวท์ทีธ               

                 จัดฟันด้วยเครื่องมือแบบ Damon หรือ จัดฟันแบบ 3M Clarity SL เป็นเครื่องมือจัดฟันที่ไม่ต้องใส่ยางรัดฟัน (Self-ligation Braces) ทำให้การเคลื่อนฟันทำได้เร็วขึ้น และยังเป็นระบบจัดฟันที่ช่วยลดระยะเวลาในการรักษาให้น้อยลงกว่าเวลาที่ต้องใช้ในการจัดฟันแบบเหล็กปกติ ลดความเจ็บปวดในการรักษาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทันตแพทย์จัดฟันสามารถเคลื่อนฟันได้ง่ายกว่าแบบเหล็กทั่วไป ทันตแพทย์จึงใช้แรงในการเคลื่อนฟันน้อยกว่า ผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บปวดฟันหลังการปรับเครื่องมือน้อยกว่าการจัดฟันแบบเหล็กธรรมดา โดยจะแตกต่างจากเครื่องมือแบบธรรมดาคือ เป็นเครื่องมือจัดฟันที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้สามารถเคลื่อนฟันได้โดยการทำงานร่วมกับลวดได้โดยตรง ไม่ต้องใช้ยางรัดฟัน ทำให้การเคลื่อนฟันสามารถทำได้อย่างนุ่มนวลมากขึ้น ความรู้สึกตึงและเจ็บเวลาเคลื่อนฟันน้อยลงการเคลื่อนฟันได้เร็วกว่าแบบธรรมดาซึ่งทำให้ใช้ระยะเวลาในการจัดฟันน้อยลงอีกด้วย

จัดฟันโลหะ

                 เป็นการจัดฟันด้วยเครื่องมือโลหะ  ต้วเหล็กจัดฟันมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก และการเลือกสียางที่ติดบนเครื่องมือจัดฟันก็ยังช่วยนำเสนอบุคลิกที่เป็นตัวตน ทำให้มีความสนุกกับการจัดฟันมากขึ้น การจัดฟันแบบนี้เป็นแบบมาตรฐานที่นิยมจัดกันทั่วไป ผู้มารับบริการส่วนใหญ่จะเลือกการจัดฟันแบบนี้ พบทันตแพทย์จัดฟันทุกๆ 4-6 สัปดาห์ เพื่อปรับเครื่องมือจัดฟัน และการจัดฟันแบบนี้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจัดฟันชนิดอื่นๆเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับในแต่ละกรณี ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี

2. แบบเครื่องมือถอดได้

จัดฟันแบบใส invisalign

                  Invisalign คลินิกทันตกรรมไวท์ทีธ WhiteTeeth Dental Clinic

 

                 จัดฟันแบบใส invisalign เป็นการจัดฟันแบบที่ไม่ต้องติดเครื่องมือจัดฟันบนฟัน เครื่องมือจะเป็นแผ่นวัสดุใสๆ บางๆ เป็นชิ้นงานที่ทำจากแลปในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะจัดทำขึ้นโดยการแสกนฟันร่วมกับการเอกซเรย์โครงสร้างกระดูกและใบหน้า เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถออกแบบแผนการรักษาที่เหมาะสมร่วมกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยในการที่จะสร้างอุปกรณ์จัดฟันที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกับคนไข้แต่ละคน ซึ่งการจัดฟันแบบใสจะเป็นแบบถอด และใส่เองได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ผู้มารับบริการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยากจัดฟันแต่ไม่อยากติดเครื่องมือจัดฟัน การจัดฟันแบบใสมีราคาค่าใช้จ่ายในการจัดฟันสูงกว่าแบบเหล็ก 2-3 เท่า ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการซ้อนเกของฟัน โดยจุดเด่นของ invisalign คือ การที่เครื่องมือมีลักษณะใสทำให้มองเห็นได้ยาก รวมถึงการที่สามารถถอดเครื่องมือได้ด้วยตนเองในกรณีที่จำเป็น เช่น เวลาทานอาหาร หรือตอนแปรงฟัน ทำให้ผู้ที่จัดฟันได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าการจัดฟันแบบอื่น

รีเทนเนอร์

รีเทนเนอร์มีหลายรูปแบบให้ผู้จัดฟันเลือกใช้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความพึงพอใจของผู้จัดฟันเป็นหลัก ดังนี้

– รีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียว ทำมาจากแผ่นอะคริลิกขนาดพอดีกับเพดานปาก ซึ่งเชื่อมกับโลหะที่มีลักษณะเป็นวงสำหรับครอบซี่ฟันไว้ เพื่อยึดรีเทนเนอร์ไม่ให้หลุดออกจากตำแหน่ง โดยควรถอดออกก่อนรับประทานอาหารและนำมาทำความสะอาดเป็นประจำ

– รีเทนเนอร์แบบใส ทำมาจากพลาสติกใส มีลักษณะคล้ายแผงฟันบนและล่าง สามารถถอดออกเพื่อทำความสะอาดได้เช่นเดียวกับรีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียว แต่แตกหักได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นพลาสติก

– รีเทนเนอร์ชนิดถาวร แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงฟันล้มติดรีเทนเนอร์ชนิดนี้ไว้บริเวณแผงฟันล่างด้านหน้า โดยอาจจำเป็นต้องติดไว้เป็นเวลา 2-3 เดือน

 

วิธีทำความสะอาดรีเทนเนอร์

               สิ่งสกปรกเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราในช่องปาก จะสะสมอยู่บนรีเทนเทอร์หากละเลยการทำความสะอาด ซึ่งอาจส่งผลให้รีเทนเนอร์เปลี่ยนสีและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากตามมาได้ การหมั่นล้างทำความสะอาดด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมกับรีเทนเนอร์แต่ละประเภทจึงนับเป็นสิ่งสำคัญ โดยรีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียวและรีเทนเนอร์แบบใสที่สามารถถอดออกได้เหมือนกันนั้น มีวิธีทำความสะอาด ดังนี้

  1. หลังถอดออกมา ให้ล้างคราบสกปรกที่รีเทนเนอร์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ทำความสะอาดได้ยากยิ่งขึ้น
  2. ใช้แปรงสีฟันชนิดขนนุ่มกับน้ำอุ่นที่ผสมยาสีฟันหรือน้ำยาล้างจานในปริมาณเล็กน้อยแปรงทำความสะอาดรีเทนเนอร์เบา หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง
  3. ใช้ก้านสำลีขนาดเล็กเช็ดบริเวณร่องในรีเทนเนอร์ซึ่งเป็นจุดที่ยากต่อการทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟัน

              ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนแช่รีเทนเนอร์กับน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้สารละลายพิเศษสำหรับทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยเฉพาะ เพื่อกำจัดคราบฝังแน่นที่ทำความสะอาดได้ยาก ส่วนรีเทนเนอร์ชนิดถาวรเป็นอุปกรณ์ที่ยึดติดอยู่กับฟันตลอดเวลา ไม่สามารถถอดออกมาได้ จึงควรหมั่นใช้ไหมขัดฟันกำจัดสิ่งสกปรก ซึ่งปฏิบัติได้ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ร้อยไหมขัดฟันเข้าไประหว่างรีเทนเนอร์และฟันล่าง โดยอาจใช้เข็มร้อยไหมขัดฟันเพื่อช่วยให้ร้อยได้ง่ายขึ้น
  2. จับไหมขัดฟันแต่ละข้างแล้วดึงไหมขัดฟันขึ้นและลงระหว่างซี่ฟันเพื่อกำจัดสิ่งสกปรก โดยดึงให้ไหมขัดฟันลงลึกไปถึงบริเวณขอบเหงือกด้วย ผู้ที่มีปัญหาในการใช้ไหมขัดฟันควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้อง

               ทั้งนี้หลังใช้รีเทนเนอร์แล้วพบว่าเหงือกหรือเนื้อเยื่อภายในช่องปากบวมแดงหรือพบอาการผิดปกติใด ภายในช่องปาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ข้อแนะนำในการใช้รีเทนเนอร์

                ผู้ใช้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยใด ก็ตามที่อาจส่งผลให้รีเทนเนอร์เสียหาย และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อคงอายุการใช้งานของรีเทนเนอร์ให้นานที่สุด

  • เก็บรีเทนเนอร์ในที่มิดชิดและห่างจากบริเวณที่เสี่ยงสัมผัสกับความร้อน เช่น ไมโครเวฟ เครื่องเป่าผม เตาแก๊ส เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดรีเทนเนอร์โดยใช้น้ำร้อนด้วย
  • แช่รีเทนเนอร์แบบใสในน้ำสะอาดทุกครั้งหลังถอดออก เพราะหากปล่อยไว้ให้แห้งอาจทำให้รีเทนเนอร์แตกหักได้ง่ายกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดรีเทนเนอร์ด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารเคมี เช่น น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม เป็นต้น หากจำเป็นต้องแช่รีเทนเนอร์ลงในน้ำยาดังกล่าว ให้ผสมกับน้ำอุ่นก่อน เพื่อเจือจางความเข้มข้นและไม่ควรแช่ไว้นานจนเกินไป
  • ทำความสะอาดกล่องใส่รีเทนเนอร์ด้วยน้ำอุ่นที่ผสมน้ำสบู่ จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าและเช็ดให้แห้ง
  • หากรีเทนเนอร์แตกหัก ผิดรูปร่าง หรือมีคราบสกปรกที่ล้างไม่ออก ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนอันใหม่ รวมทั้งควรเปลี่ยนรีเทนเนอร์ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ

               โดยรีเทนเนอร์แบบลวดเส้นเดียวมักมีอายุการใช้งานประมาน 5-10 ปี ส่วนรีเทนเนอร์แบบใสจะมีอายุการใช้งานเพียงประมาณ 6 เดือนถึง 2-3 ปี เท่านั้น

กลับไป –> หน้ารวมบริการ
กลับไป –> หน้ารีวิวเคสรวม
กลับไป –> หน้าแรก

White Teeth Dental Clinic